เคยมั้ย ได้ยามาแต่ไม่กล้ากิน เพราะดันไปเห็นคำว่าๆๆๆ “ยาอันตราย” เขียนตัวแดงแจ้ อยู่ข้างกล่องยา หลายๆคนอาจจะเคยไปซื้อยาจากร้านขายยาเภสัชใกล้บ้าน หรือ ได้รับยาจากโรงพยาบาลมา แล้วปรากฏว่าดันเหลือบไปเห็นคำว่ายาอันตราย ติดอยู่ข้างกล่องยาตามรูปด้านล่างนี้ซะงั้น เลยทำให้ถึงกับหยุดชะงัก กินดีมั้ยหว่าๆๆ มันเขียนว่าอันตราย
ด้วยความไม่มั่นใจ แต่มั่นหน้า เลยเปิดกล่องหยิบใบกำกับยาด้านในมาอ่านให้รู้ว่า ข้าก็เป็นคนที่ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจนะ แต่ปรากฎว่า ไอ้หย่า อั๋วเห็นอย่างนี้แล้วเอายาไปคืน ไม่กินดีกว่า เพราะใบกำกับยาเขียนไว้น่ากลัวยังงี้ ขี่นกินไปได้ไปหาอากง อาม่า บนสวรรค์ก่อนถึงเวลาอันควรแน่นอน
จริงๆแล้วเราต้องมาเข้าใจ 2 ประเด็นนี้ก่อนคือ 1.ยาอันตราย ที่ถูกเรียกตามกฎหมาย 2.อันตรายจากการใช้ยา ซึ่ง 2 ประเด็นนี้มีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมากเลยทีเดียว
สารบัญ ( ยาวไปเลือกอ่านได้ )
1. ยาอันตราย ที่ถูกเรียกตามกฎหมาย คืออะไร
3. อันตรายจากการใช้ยา มีอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร
ทำการลงทะเบียนเพื่อที่เราจะต้องทำการตรวจสอบเลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ และ ใบอนุญาตขายยา ว่าเป็นการซื้อยาของผู้รับอนุญาต ที่มีร้านขายยาถูกต้องตามกฏหมาย
ยาอันตราย ที่ถูกเรียกตามกฎหมาย คืออะไร
เมื่อพูดถึงกฎหมายยาแล้ว เราก็คงจะไม่กล่าวถึง สิ่งที่เรียกว่า พระราชบัญญัติยา (พรบ.ยา) นั้นเอง โดยจะขอยกข้อมูลใน พรบ.ยา 2510 มา ซึ่งได้ประกาศไว้ว่า
ยาอันตราย หมายความว่า ยาแผนปัจจุบัน หรือ ยาแผนโบราณ ที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาอันตราย
นั้นหมายความว่า คำที่เราเห็นบนกล่องว่าเป็นยาอันตรายนั้น คือ เป็นการเขียนโดยที่เกิดจากข้อกำหนดทางกฎหมาย คำถามต่อมาคือ แล้วมันอันตรายตามที่ชื่อมันระบุไว้หรือเปล่า
ถูกต้องแล้วครับ มันก็อันตราย จริงๆตามชื่อที่กฎหมายตั้งให้นั้นแหละ เพราะ ถ้าเราจะเปรียบเทียบถึงความปลอดภัย ระหว่างยาอันตราย และ ยาสามัญประจำบ้าน แล้ว ยาอันตรายนั้นต้องระมัดระวังการใช้มากกว่าการใช้ยาสามัญประจำบ้านแน่นอน เขาถึงมีข้อกฎหมายกำหนดขึ้นมาให้ยากลุ่มนี้ไม่ให้หาซื้อได้เองตามร้านสะดวกซื้อเหมือนยาสามัญนั้นเอง รวมถึงร้านขายยาออนไลน์ก็จะไม่ให้ขายยากลุ่มนี้ให้กับประชาชนโดยตรงด้วยนะ
เนื่องจากยาในกลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ง่าย รวมถึงพบผลข้างเคียงเกิดได้เยอะกว่ากลุ่มยาสามัญประจำบ้าน จึงทำให้ยากลุ่มนี้ควรใช้อย่างระมัดระวัง และ ต้องถูกจ่ายหรือจำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบัน โดยถูกจ่ายโดยเภสัชกรที่มีใบประกอบโรคศิลป์เท่านั้น
เพราะยากลุ่มนี้หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรือไม่ระมัดระวัง นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยไม่หายจากโรคแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาโดยไม่จำเป็น
กลับสู่สารบัญห้ามใช้ยากลุ่มนี้มั้ย
คำตอบคือเรายังคงใช้ยากลุ่มนี้ได้หากเรามีอาการเจ็บป่วย แต่เวลาเรานำมาใช้ควรใช้และปฎิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ หรือ เภสัชกร ที่ให้ยาเรามา และ ไม่ควรนำยานี้ไปแจกจ่ายให้กับญาติสนิท มิตรสหาย ถึงแม้ว่าเขาจะมีอาการเหมือนๆหรือคล้ายกับเราก็ตาม
ยากลุ่มนี้มีอะไรบ้าง
1. ยาจําพวกลดความดันเลือด (Hypotensive drugs )
2. ยาจําพวกขยายหลอดเลือดส่วนขอบ ( Peripheral vasodilators ) ยกเว้น
- ก. ไนอาซิน ( Niacin ) ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อขนาดรับประทานหนึ่งมื้อ
- ข. ยาจําพวกขยายหลอดเลือดที่ใช้เฉพาะกับผิวหนัง
3. ยาจําพวกขยายหลอดเลือดโคโรนารี ( Coronary vasodilators ) ยกเว้นที่ใช้สําหรับสูดดม
4. ยาจําพวกดิจิตาลอยด์( Digitaloid drugs ) ยกเว้นสะควิลล์ ( Squill ) ที่ใช้สําหรับขับเสมหะ
5. ยาจําพวกรักษาอาการภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Antiarrhythmic drugs )
6. ยาจําพวกที่มีผลต่อมไขมันในเลือด (Drugs affecting blood lipids ) ยกเว้นไนอาซีน ( Niacin ) ที่มีปริมาณไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อขนาดรับประทานหนึ่งมื้อ
7. ยาจําพวกแสดงฤทธิ์ต่อหัวใจหรือหลอดเลือด ( Cardiovascular drugs )
8. ยาจําพวกแก้ไอ ( Antitussive drugs ) ยกเว้น
- ก. ที่ใช้สําหรับขับเสมหะ ( Expectorants )
- ข. เดกซ์โตรเมทอร์แฟน ไฮโดรโบรไมด์( Dextromethorphan hydrobromide ) ขนาด 15 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด
9. ยาจําพวกแอดรีเนอร์ยิค ( Adrenergic drugs ) ยกเว้น
- ก. ที่ใช้สําหรับหยอดจมูก ตามตํารายาที่รัฐมนตรีประกาศ
- ข. ฟีนิลโปรปาโนลามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Phenylpropanolamine hydrochloride )ขนาด 12.5-25 มิลลิกรัม ผสม กับพาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาด 300-500 มิลลิกรัม และ คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) ขนาด 1-2 มิลลิกรัม ที่ผลิตขี้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด
- ค. เอฟีดรีน ไฮโดรคลอไรด์ ( Ephedrine hydrochloride ) ขนาด 15-50 มิลลิกรัม ผสมกับทีโอฟิลลีน แอนไฮดรัส ( Theophylline anhydrous ) ขนาด 60-150 มิลลิกรัม ที่ผลิตขี้นเป็นยาบรรจุเสร็จขนิดเม็ด
10. ยาจําพวกโคลิเนอร์ยิค ( Cholinergic drugs )
11. ยาจําพวกสารสกัดแอดรีเนอร์ยิค ( Adrenergic blocking drugs )
12. ยาจําพวกสกัดกั้นโคลิเนอร์ยิค ( Cholinergic blocking drugs ) ทั้งที่ได้จาก พฤกษชาติและที่ได้จากการสังเคราะห์ รวมทั้งแอลคาลอยด์และเกลือของแอลคาลอยด์ที่ได้จากพฤกษชาติเหล่านั้น ยกเว้น
- ก. ยาสกัดเบลลาดอนนา ( Belladonna Extract ) ทิงเจอร์เบลลาดอนนา ( Belladonna Tincture ) ยาสกัดไฮออสไซยามัส ( Hyoscyamus Extract )
ทิงเจอร์ไฮออสไซยามัส (Hyoscyamus Tincture ) หรือทิงเจอร์สะตราโมเนียม ( Stramonium Tincture ) ที่มีขนาดรับประทานในมื้อหนึ่งไม่เกินขนาดรับประทานอย่างต่ำสุดของยาเหล่านั้นที่กําหนดไวในตำรับยาที่รัฐมนตรีประกาศ
- ข. ไฮออสไซยามีนซัลเฟต ( HyoscyamineSulphate ) ที่มีขนาดรับประทานใน มื้อหนึ่ง ไม่เกิน 125 ไมโครกรัม
- ค. อะโทรปีนซัลเฟต (Atropine Sulphate ) ที่มีขนาดรับประทานในมื้อหนึ่งไม่เกิน 250ไมโครกรัม
13. ยาจําพวกสกัดกั้นประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular blocking drugs) [ ยากลุ่มนี้ปัจจุบันเปลี่ยนสถานะเป็นยาควบคุมพิเศษ ]
14. ยาจําพวกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งออกฤทธิ์ที่ประสาทส่วนกลาง ( Centrally acting muscle relaxants ) รวมทั้งยารักษาอาการโรคปาร์กินสัน ( Antiparkinson drugs )ยาจําพวกขับปัสสาวะ ( Diuretic drugs )
- ก. ยาขับปัสสาวะจําพวกออสโมติค ( Osmotic diuretic drugs )
- ข. อูวาเออร์ซี ( UvaUrsi )
- ค. บูชู ( Buchu )
- ง. ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์( Hydrochlorothiazide ) ขนาด 50 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด
15. ยาจําพวกกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก ( Oxytocic drugs )
16. ยาจําพวกฮอรโมนของต่อมปิตูอิตารี (Pituitary hormones )
17. ยาจําพวกคอร์ติโคสเตอรอยด์( Corticosteroids ) ที่ได้จากธรรมชาติหรือที่ได้จากการสังเคราะห์สําหรับใช้เฉพาะที่
18. ยาจําพวกฮอร์โมนของตับอ่อน ( Pancreatic hormones ) รวมทั้งยาจาพวกที่ใช้รับประทานเพื่อทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง ( Oral hypoglycemic drugs )
19. ยาจําพวกฮอร์โมนของต่อมพาราธัยรอยด์( Parathyroid hormones ) ที่ได้จากธรรมชาติหรือที่ได้จากการสังเคราะห์
20. ยาจําพวกฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์ ( Thyroid hormones ) ที่ได้จากธรรมชาติหรือที่ได้จากการสังเคราะห์
21. ยาจําพวกแอนติธัยรอยด์( Antithyroid drugs )
22. ยาจําพวกฮอรโมนของรังไข่( Ovarian hormones ) ที่ได้จากธรรมชาติหรือที่ได้จากการสังเคราะห์ หรือที่เราใช้กับบ่อยคือ ยาคุมกำเนิด ชนิดรับประทาน (Oral contraceptive) หรือ ยาฮอร์โมนทดแทน
- ก. เอทินิลเอสตราไดออล ( Ethinylestradiol ) ขนาด 0.03 – 0.05 มิลลิกรัม ผสมกับนอร์เจสตรีล ( Norgestrel ) ขนาด 0.25 – 0.5 มิลลิกรัม เลโวนอร์เจสตรีล ( Levonorgestrel ) ขนาด0.125-0.25 มิลลิกรัม นอร์เอทิสเตอโรน ( Norethisterone ) ขนาด 1.0-2.5 มิลลิกรัม นอร์เอทิสเตอโรน อะซีเตต ( Norethisterone acetate ) ขนาด 1.0- 2.5 มิลลิกรัม หรือไลเนสตรีนอล ( Lynestrenol ) ขนาด 1.0-2.5 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด
- ข. เมสตรานอล ( Mestranol ) ขนาด 0.03 – 0.05 มิลลิกรัม ผสมกับนอร์เจสตรีล ( Norgestrel ) ขนาด 0.25 – 0.5 มิลลิกรัม เลโวนอร์เจสตรีล( Levonorgestrel ) ขนาด 0.125 – 0. 25 มิลลิกรัม นอร์เอทิสเตอโรน ( Norethisterone )ขนาด 1.0-2.5 มิลลิกรัม นอร์เอทิสเตอโรน อะซีเตต( Norethisterone acetate ) ขนาด 1.0 –2.5 มิลลิกรัม หรือไลเนสตรีนอล ( Lynestrenol ) ขนาด 1.0 – 2.5 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด
23. ยาจําพวกฮอรโมนของอัณฑะ ( Testicular hormones ) ที่ได้จากธรรมชาติหรือที่ได้จากการสังเคราะห์ รวมทั้งยาจําพวกอนาบอลิค ( Anabolic drugs )
24. ยาจําพวกทําให้ชาเฉพาะที่( Local Anesthetics)
- ก. น้ํามันกานพลู ( Clove oil ) ที่ใช้สําหรับใส่ฟันเพื่อแก้ปวด
- ข. ยูจีนอล ( Eugenol ) ที่ใช่สําหรับใส่ฟันเพื่อแกปวด
25. ยาจําพวกระงับประสาทและทําให้นอนหลับ ( Sedatives and hypnotics ) นอกจากที่ประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
26. ยาจําพวกรักษาลมบ้าหมู ( Antiepileptics ) หรือยารักษาอาการชัก ( Anticonvulsants ) นอกจากที่ประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
27. ยาจําพวกสงบประสาท ( Tranquilizing drugs ) นอกจากที่ประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและที่ประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ
28. ยาจําพวกกระตุ้นประสาทไซโคมอเตอร์( Psychomotor stimulants ) นอกจากที่ประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
29. ยาจําพวกบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้( Analgesics or antipyretics )
- ก. แอสไพริน ( Aspirin ) หรือเกลือของแอสไพริน ( Salts of Aspirin )
- ข. ฟีนาซีตีน ( Phenacetin )
- ค. โซเดียมซาลิซีเลท ( Sodium Salicylate )
- ง. ซาลิซีลาไมด์( Salicylamide )
- จ. อะเซตามิโนเฟน หรือพาราเซตามอล ( Acetaminophen or Paracetamol )
- ฉ. ที่ประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ
30. ยาจําพวกลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์( Non–steroids anti–inflammatory- drugs ) ยาจําพวกลดกรดยูริค (Uricosuric drugs ) ยาจําพวกรักษาโรคข้ออักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์(Non-steroids anti-arthritic-drugs )
- ก. ที่ประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ
- ข. ที่ใช้เฉพาะกับผิวหนัง
- ค. แอสไพริน ( Aspirin ) หรือเกลือของแอสไพริน
- ง. โซเดียมซาลิซีเลท ( Sodium Salicylate )
สำหรับยาอื่นที่เป็นยาอันตรายตามกฎหมาย สามารถอ่านเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะถูก update ข้อมูลล่าสุดเป็นประจำ แล้วแอดจะมา update เพิ่มให้เรื่อยๆในบทความนี้เมื่อมีการกล่าวถึงยาเหล่านี้ละกันน่ะ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
อันตรายจากการใช้ยา มีอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร
คำนี้แตกต่างจากคำว่า ยาอันตราย ตามกฎหมายอย่างคนละนัยยะเลยหล่ะ แต่ๆๆๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว อันตรายจากการใช้ยาเนี่ยก็มักจะเกิดกับกลุ่มยาที่เป็นอันตรายตามที่กฎหมายกำหนดนั้นแหละ แต่ก็สามารถเกิดได้กับยากลุ่มอื่นๆที่กฎหมายกำหนดได้เหมือนกัน เขาถึงกำหนดให้ยาเหล่านี้เป็นยาอันตรายตามกฎหมายไงหล่ะ งงกันมั้ย อ้าวงง งั้นไปต่อไม่รอแล้วนะ
หยุดๆๆก่อน แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะว่าการกินยาอันตรายทุกตัว จะต้องเกิดอันตรายทุกครั้งไปจากการกินยา อ่ะต่อได้ แอดต้องการจะอธิบายว่า
อันตรายจากการใช้ยา คือ การนำยามาใช้แบบผิดๆ ใช้โดยที่เราไม่มีความรู้ และเป็นความโชคร้ายที่เกิดจากการใช้ยานั้นแล้วดันเกิดอันตรายขึ้นมา มันเป็นไงไปต่อกันเลย
โดยเราจะแบ่งอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเนี้ยเป็น 7 หัวข้อดังนี้
1. การใช้ยาในทางที่ผิด ที่เกิดจากการติดยานั้น (Drug abuse และ Drug Dependence)
การใช้ยาในทางที่ผิดนั้นเรามักจะพบอยู่บ่อยครั้ง และเป็นปัญหาของสังคมไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ยาที่มีการใช้ผิดอยู่บ่อยๆ ยาต่างๆเหล่านี้เลยต้องถูกกฎหมายเปลี่ยนไปจำกัดการใช้อยู่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้นโดยส่วนใหญ่เรามักจะพบเจอในกลุ่มวัยรุ่น จะสายแว้น สายไม่แว้น ก็เจอได้ โดยนำยาเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด จนทำให้เกิดการติดยา หรือ ต้องพึ่งพาการใช้ยา
ยกตัวอย่างเช่น การนำยา pseudoephedrine(ซูโดอีเฟดรีน) ซึ่งเป็นยาแก้คัดจมูกที่แอดรักมากกก ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นยาอันตราย ที่แอดต้องมีติดบ้านไว้ มาใช้ในทางที่ผิด โดย วัยรุ่นนำมาใส่ 4 คูณ 100 และรับประทานกันจนกระทั้งเกิดการเสพติด จนปัจจุบัน ยานี้จึงถูกจัดเข้ามาอยู่ในกลุ่มของยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภทที่ 2 จนถูกจำกัดการจ่ายยานี้อยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้น (กุละเซง)
2. การใช้ยาเกินขนาด (Overdosage toxicity)
การใช้ยาเกินขนาดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราพบได้บ่อยครั้งในสังคม รวมถึงในสถานประกอบการพยาบาล โดยที่เราพบเจอในสังคมนั้น มีสาเหตุ เช่น เกิดจากการคิดฆ่าตัวตาย เลยใช้ยาเหล่านี้ในปริมาณมาก เช่น การกินยาพาราในปริมาณมากจนกระทั้งเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน จากสาร N-acetyl-p-benzoquinone imine(NAPQI) ที่ไปทำลายเซลล์ตับอย่างรวดเร็ว หรือ การกินยาคลายเครียด Amitriptyline ในปริมาณมากเพื่อฆ่าตัวตาย จนทำให้ยาเหลือนี้ไปกดการหายใจที่ศูนย์ควบคุมการหายใจที่สมอง และทำให้เกิดการทำงานของหัวใจผิดปกติจนกระทั่งเสียชีวิตได้
การใช้ยาเกิดขนาดที่เราพบเจอบ่อยจนเกิดอันตราย คือ เกิดจากความไม่รู้จากการใช้ยาและความผิดพลาด เช่น การที่ประชาชนไม่รู้ว่าการกินยาพาราจะถูกจำกัดอยู่ที่ประมาณ 2000 – 3000 มก.ต่อวัน (ไม่เกิน 4-6 เม็ด/วัน)แต่บางคนรับประทานจนติดทางใจ คือเมื่อไหร่ที่ปวดเมื่อยหรือปวดหัวนิดหน่อยก็หยิบพาราขึ้นมาทาน ทานแล้วก็ ทาน ทานไปเกินขนาดที่กำหนดในวันนั้น พอมีพฤติกรรมแบบนี้ไปทุกๆวัน ก็ทำให้เกิดอันตรายจนเกิดภาวะตับวายได้
หรืออาจจะเกิดจากการใช้ยาในสถานพยาบาล เช่น แพทย์สั่งจ่ายผิดขนาด เภสัชกรตรวจสอบหรือคำนวณยาผิดพลาดจนยาหลุดไปถึงผู้ป่วย นางพยาบาลผสมยาผิดพลาด ซึ่งก็เป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดจากความเป็นจริงที่ต้องใช้ได้
3. การดื้อยา (Drug resistance)
การดื้อยาเป็นอีกสาเหตุเป็นอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาแบบผิดๆ โดยการดื้อในทางการแพทย์แล้ว เราพบว่ามีการดื้อยาจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- การดื้อยาของเชื้อจุลชีพ (Drug resistance) คือเกิดจากการดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาฆ่าเชื้อจุลชีพอย่างพร่ำเพรื่อ คุ้นๆกันมั้ย “ เอายาแก้อักเสบเม็ด ดำ-แดง,เขียว – ฟ้า , ชมพู – ขาว มากันครบจนตั้งทีมกีฬาสีได้เลย แม่คุณรู้ๆกันมั้ยว่าที่เรียกหากัน มันคือยาฆ่าเชื้อโรค ถ้ากินกันแบบนี้บ่อยๆชีวิตจะลำบาก เวลาที่ติดเชื้อมาจริงๆก็จะหายาใช้กันไม่ได้
- การดื้อยาโดยร่างกาย (Drug Tolerance) เกิดจากร่างกายมันชินชา เวลาอกหัก ไม่ใช่ ไอการดื้อยาแบบนี้เนี้ย มันเกิดจากการที่เราใช้ยาเดิมๆจนเซลล์ในร่างกายมันตอบสนองต่อยาลดลง หรือภาษาวิชาการคือ ตัวรับ (receptor) ของยา ที่อยู่ที่เซลล์ตอบรับกับยาที่ให้ลดลง หรือ เกิดจากร่างกายมีการขับยาออกเร็วขึ้น (Speed up metabolism) จนทำให้ยาถูกขับออกจากร่างกายเร็วขึ้น ยกตัวอย่างคราวๆ เคยใช้ยาพ่นจมูกแก้คัดจมูกกันมั้ย ช่วงแรกๆที่เริ่มใช้เนี้ย พ่นไปแปบเดียวเนี้ยโล่งเลย แต่พอใช้บ่อยๆเข้า พ่นไป 2 ที่แล้วยังรู้สึกจมูกตันๆอยู่เลย โดยเรามักจะพบเหตุการณ์นี้ได้บ่อยกับยากลุ่ม ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง
4. ผลข้างเคียงจากการใช้ยา (Side effect)
อันนี้น่าจะไม่ต้องพูดถึงมาก เพราะหลายๆคนอาจจะเคยเจอกันมาเยอะ โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเรายังมีการใช้ยาต้องเจอบ้าง เช่น อาการง่วงหรือรู้สึกอ่อนเพลียจากการกินยาแพ้แก้ ยาลดน้ำมูก , อาการแสบท้อง หรือ ถ้ารุนแรงกว่านั้นคือกระเพาะเป็นแผล จากการกินยาแก้ปวด อันตรายจากการใช้ยาที่เกิดจากผลข้างเคียงเหล่านี้นำมาซึ่งอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการใช้ได้เลย อย่างเช่นยาลดน้ำมูกอาจทำให้เกิดอันตรายหากเราขับรถแล้วง่วง ส่วนยากระเพาะนี้ก็ทางตรงเลย
5. การแพ้ยา (Drug allergy และ Drug hypersensitivity)
การแพ้ยา บางคนอาจยังไม่เคยเจอ แต่ใครที่เคยเจอหนักๆเขา อาจทำให้กลัวการกินยาไปเลยทีเดียว เพราะบางคนแพ้หนักมาก จนอาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเกือบเสียชีวิตเลยก็ว่าได้ โดยการแพ้ยาหากคนที่ไม่เคยแพ้ยาใดๆมาเลยเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าเราจะแพ้ยาตัวไหนได้ในอนาคต จนกว่าเราจะได้รับยานั้นๆ
แต่สำหรับคนที่เคยมีประวัติแพ้มาแล้วเนี่ย เราควรที่จะพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้ เมื่อไหร่ที่มีการรับยาจากที่ต่างๆควรยื่นบัตรนี้ให้กับบุคลากรการแพทย์ เช่น แพทย์ หรือ เภสัชกร ทุกครั้งก่อนได้รับยา เพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการแพ้ซ้ำ
6. ปฎิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction)
ภาษาชาวบ้านเรียกว่ายาตีกัน แต่ทางการแพทย์ไม่ได้หมายถึงว่ามันตีกันอย่างเดียวนะ บางอย่างมันสนับสนุนกันจนยกพวกมาตีเราเนี้ยแหละ โดยปฎิกิริยาระหว่างยาจะเกิดขึ้นเมื่อเรากินยา 2 ตัวในเวลาเดียวกัน หรือ คนละเวลาก็ได้ เช่น ยาตัวที่ 1 กินเช้า ตัวที่ 2 กินเย็น ก็อาจเกิดขึ้นได้ แล้วมันเกิดยังไง
เวลาที่เรากินยามากกว่า 1 ตัว ยาเหล่านี้อาจไปเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน จนอาจทำให้ยาตัวใดตัวหนึ่งมีฤทธิ์มากขึ้นกว่าปกติจนเป็นอันตรายกับร่างกาย
หรืออีกกรณีคือ ยาเหล่านี้ไปหักล้างฤทธิ์กันเอง ทำให้ปริมาณยาไม่เพียงพอต่อการรักษา ทำให้ยาที่ใช้ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นหากเป็นยาฆ่าเชื้อก็อาจทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาได้ เนื่องจากปริมาณยาฆ่าเชื้อในเลือดน้อยกว่าที่จะฆ่าเชื้อได้
7. การตอบสนองต่อยาในคนที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
อันนี้ถือว่าเป็นความโชคร้ายเฉพาะบุคคลเลย หากว่าเราไม่รู้ว่าเราเป็นโรคที่ต้องหลีกเลี่ยงยาบางอย่าง หรือ แม้กระทั่งเราไม่ได้ป่วยเป็นโรคแต่มีลักษณะยีนภายในร่างกายที่ทำให้ขับยาบางอย่างออกจากร่างกายได้ช้ากว่าปกติ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาได้
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G-6-PD หากรับประทานยาที่ต้องมีเจ้า enzyme นี้ในการสลายสารอนุมูลอิสระที่เกิดจากยา ก็อาจทำให้เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยแตกได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่ควรกินยา Aspirin , Sulfa , Chloramphenical, Anti malaria รวมถึงวิตามินซีขนาดสูงอีกด้วย
จากโรคที่กล่าวบอกไปเมื่อกี่ เรายังพอที่จะหลีกเลี่ยงยาได้ เพราะหลายๆคนน่าจะรู้ว่าตนเองเป็นโรคอะไรมาแต่กำเนิด แต่ยังมีการเกิดอันตรายจากการใช้ยาที่เกิดจากพันธุกรรมอีกลักษณะหนึ่ง ที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลย จนกระทั่งเกิดปัญหาหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาอยู่บ่อยครั้งจนต้องทำการตรวจ นั้นก็คือคนที่มียืนที่ทำให้สารที่ชื่อ Cytochrome P (CYP) หรือ สารอื่นๆในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขับยาออกจากร่างกายผิดปกติ ตามรูปด้านล่าง
กลับสู่สารบัญสรุป ยาอันตราย
จากที่กล่าวไปทั้งหมด หลายคนที่อาจมาถึงตรงนี้คงจะเบลอไปหมดแล้วใช่มั้ยว่าทำไมยาวจัง แต่เราคงพอจะแยกออกแล้วว่า ยาอันตราย กับ อันตรายจากการใช้ยานั้นแตกต่างกันอย่างไร หมายความว่า ยาอันตรายที่เรากินเข้าไป ไม่ได้เกิดอันตรายทุกครั้ง และอันตรายที่เกิดจากการที่เราใช้ยานั้นก็สามารถเกิดกับยาในกลุ่มอื่นๆได้เช่นกัน ไม่ได้จำกัดเอาไว้เฉพาะกลุ่มยาอันตรายเท่านั้น นั้นเอง