โรคหลอดเลือดอุดตัน เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็น ทั้งการอุดตันที่สมอง รวมถึงส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด และ ขา นอกจากนี้ จากผ่าตัดต่างๆก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดก่อนเลือดไปอุดตันตามส่วนต่างๆของร่างกายได้เช่นกัน ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันเราก็พบว่าเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้พบในคนที่อายุน้อยลง
โดยปกติยาในกลุ่มนี้ก็จะมีทั้งยาฉีดและกิน ยาฉีดถ้าคนสมัยเก่าเราจะคุ้นเคยกัน เช่น Heparin หรือ ถ้ายากิน เราอาจจะเคยได้ยินยาชื่อ วาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งยาเหล่านี้จะค่อนข้างมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆมาก หรือ แม้กระทั้งอาหารเช่น ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ต่างๆ ทำให้การบริหารยาในการทานได้ยาก แต่ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเภสัชกรรม ทำให้เรามีการผลิตยากลุ่มนี้ได้ดีขึ้นโดยไปลดปัญหาเหล่านี้ได้ 1 ในยารุ่นใหม่ๆนี้ก็คือ Pradaxa
สารบัญ (กดเลือกอ่านตามหัวข้อ)
- Pradaxa คือยาอะไร ?
- ข้อห้ามใช้
- ข้อควรระวัง
- หญิงตั้งครรภ์ และ ให้นมบุตรทานได้มั้ย ?
- ผลข้างเคียง
- การรับประทานยานี้
- ปฏิกิริยากับยาอื่น
- การเก็บรักษา
- ราคาตลาดยา
- สรุปข้อมูลยา
ยา Pradaxa คือยาอะไร
ยาตัวนี้เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) กลุ่ม NOACs (Novel oral anticoagulants) หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ Non vitamin K antagonist oral anticoagulant อ่านจบก็หมดลมหายใจพอดี จะยาวไปไหน โดยตัวยาสำคัญของยาตัวนี้คือ Dabigatran etexilate โดยยาตัวนี้จะไปยับยั้งการแข็งตัวของเลือด โดยการป้องกันการเปลี่ยนของ Prothrombin เป็น Trombin เมื่อ Trombin ถูกยับยั้ง ร่างกายก็จะไม่สามารถสังเคราห์ตัว Fibrin ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างร่างแหในการเกาะกันของเลือดได้ ตามรูปด้านล่าง
ข้อบ่งใช้
- ป้องกันและลดโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ที่หลอดเลือดสมอง (Stroke)
- รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่ไม่มีโรคลิ้นหัวใจร่วมด้วย (Nonvalvular Atrial Fibrilation)
- รักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา (Venous Thromboembolism) และป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
- รักษาลิ่มเลือดลอยอุดตันหลอดเลือดปอด (Pulmonary Embolism) และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ สำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ช้อสะโพก
ทำไมยา Pradaxa เกิดผลข้างเคียงรวมถึงมีปฏิกิริยากับยาอื่นน้อยกว่า และ บริหารได้ง่ายกว่า Warfarin
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เวลาที่เราเกิดบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นภายนอกร่างกาย เช่น โดนมีดบาด หรือ ภายในร่างกาย เช่น การเกิดเส้นเลือดขอด เกิดการอักเสบขึ้น ร่างกายจะพยายาม สร้างเกล็ดเลือด และ โปรตีนต่างๆ ขึ้นมาเพื่อที่จะสมานบาดแผลนั้น ๆ แต่หากว่าการสร้างสิ่งเหล่านี้เกิดมากเกินไป หรือ ผิดปกติไป ก็อาจจะทำให้เกิดก้อนเลือด ไปอุดตั้นตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ เช่น สมอง หัวใจ หรือ ปอด
ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้เรามีการคิดค้นยาที่จะมาลดการแข็งตัวของเลือดที่เกิดจากความผิดปกตินี้ โดยกระบวนการแข็งตัวของเลือดเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับ Factor หลายตัวตามภาพด้านล่าง โดยเราจะเห็นว่ายารุ่นเก่า อย่าง Warfarin จะเข้าไปออกฤทธิ์ขัดขวางกระบวนการห้ามเลือดในหลายๆ Factor ซึ่งแตกต่างจาก Dabigatran ที่เป็นตัวยาของ พราดาซา ที่เข้าไปยับยั้งเพียงขั้นตอนเกือบจะสุดท้ายของกระบวนการ ก่อนที่จะเกิดเป็น Fibrin clot ไปเป็นก้อนเลือดอุดตามบาดแผล
ด้วยกลไกนี้เอง ทำให้ยาตัวนี้รบกวน Factor อื่นๆ น้อยกว่า จึงทำให้การเกิดผลข้างเคียงต่างๆเกิดได้น้อยกว่า ควบคุมการให้ยา และ ค่าการแข็งตัวของเลือด (INR) ได้ง่ายกว่า รวมถึงตัวโครงสร้างทางเคมีของยา Warfarin จะมีผลกับ Cytochrome P (CYP) หลายตัวจึงทำให้เกิดปฎิกิริยากับยาอื่นๆ ได้เยอะกว่าตัว Pradaxa นั้นเอง ทางหากว่าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วงง ก็ไปถามอาจารย์ที่คณะเอานะคะ ^ ^

ข้อห้ามใช้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ตัวยาสำคัญและส่วนประกอบใดๆในยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีปัญหาตับและไต ขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอื่นๆ เช่น warfarin , rivaroxaban , apixaban , heparin
- ห้ามทานร่วมกับยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม imidazole เช่น ketoconazole , itraconazole
- ห้ามทานร่วมกับยากดภูมิ Cyclosporine หากจำเป็นควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์ก่อน
- ห้ามทานยาร่วมกับแอลกอฮอล์ จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในกระเพาะและส่วนอื่นๆของร่างกาย
- ไม่ควรทานสมุนไพร ที่มีฤทธืเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด
ข้อควรระวัง
- ถ้าระหว่างรับประทานยา ผิวหนัง มีรอยจ้ำเขียว เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เลือดออกในตาขาว ไอเป็นเลือด หรือ สีปัสสาวะมีสีแดงผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ว่ามีการทานยา Pradaxa อยู่
- หากต้องไปทำการผ่าตัด หรือ ทำหัตถการณ์ทันตกรรม (ทำฟัน) ให้แจ้งแพทย์ว่าใช้ยานี้
- หากเกิดอุบัติเหตุ จนมีเลือดออก ให้ใช้ผ้ากดที่บริเวณแผลได้ว และหากต้องเข้ารับการรักษาหรือผ่าตัดต้องแจ้งแพทย์ว่าทานยานี้อยู่
- ไม่แนะนำให้ทานร่วมกับยา NSAIDs กลุ่ม Diclofenac , Ibuprofen , Piroxicam
- ไม่แนะนำให้ทานในผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปี หากจำเป็นต้องรับประทาน ควรติดตามค่าเลือดกับค่าไต ทุก 6 เดือน
- ไม่ควรรับประทานในผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียที่หัวใจ (Bacterial endocarditis)
- การรับประทานยาควรกลืนยาทั้งแคปซูล ห้ามแกะเปลือกแคปซูลออกเด็ดขาด
- หากคุณน้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโล ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ทานได้มั้ย ?
- ยังไม่มีการทดลองที่แน่นอน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์ หรือ่ให้นมบุตร
- หากจำเป็นต้องใช้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อดูความจำเป็นในการใช้ก่อน
ผลข้างเคียง
ยาตัวนี้ก็เหมือนกับยาอื่นๆ ทีสามารถเจอผลข้างเคียง ได้ระหว่างการใช้ โดยผลข้างเคียงก็จะมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย กับ ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย รวมถึงผลข้างเคียงที่อันตรายต้องระวังเป็นพิเศษ
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย (1 ใน 10)
- เลือดกำเดาไหล เลือดออกในทางเดินอาหาร และ ทางเดินปัสสาวะ
- จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง
- ปวดท้อง
- อาหารไม่ย่อย
- รู้สึกไม่ค่อยมีแรง
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย (1 ใน 100)
- เลือดไหลทางทวาร หรือ ในสมอง
- ห้อเลือดใต้ผิวหนัง
- ไอเป็นเลือด หรือ มีเสมหะเป็นเลือด
- ค่าเกล็ดเลือดต่ำ
- ค่าฮีโมโกบิลของเลือดตกลง
- มีอาการคันตามผิวหนัง
- ผิวหนังเปลี่ยนสี ผิวดูคล้ำ
- มีอาการเรอเปรี้ยว อาเจียน กลืนลำบาก
- ค่าตับผิดปกติ
ผลข้างเคียงที่เกิดน้อย (1 ใน 1000) แต่อันตรายกับร่างกาย
- เกิดเลือดออกตามข้อ หรือ บริเวณที่ผ่าตัด บริเวณที่แท่งเข็ม
- หายใจลำบาก เวียนศีรษะ จากการแพ้ยา
- มีอาการบวมตามหน้า และ คอ จากการแพ้ยา
- ค่าเอนไซม์ตับขึ้นสูง
- ค่าสัดสวนเม็ดเลือดลดลงผิดปกติ
- ผิวเหลือง ตาเหลือง
การรับประทานยานี้
การรับประทานยานี้จะแตกต่างกันไปตามโรคที่เป็น และ ตามอายุ โดยจะใช้ยาขนาดแตกต่างกัน โดยยานี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่เด็ก 8 ขวบ ถึงผู้ใหญ่ แต่ถ้าเด็กที่อายุน้อยกว่านี้ต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนัก โดยแพทย์จะเป็นคนกำหนดขนาดยาที่เหมาะสมให้ ซึ่งคนไข้ห้ามปรับขนาดยาเอง เพราะจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลและเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงอีกด้วย
หากลืมรับประทานยา
การลืมรับประทานยา จะแก้ไขอย่างไร ต้องขึ้นกับวิธีการกินยาของเราด้วยว่าทานวันละกี่ครั้ง ซึ่งจะไม่เหมือนกันตามภาพด้านล่าง

การปรับขนาดยาและการหยุดรับประทานยา
- ห้ามปรับขนาดยาเพิ่ม หรือ ลด เองโดยเด็ดขาด เนื่องจากขนาดยาในการรักษาแต่ละโรค ช่วงวัย น้ำหนัก จะมีขนาดที่เหมาะสมตามที่แพทย์สั่งให้ทาน
- หากเกิดปัญหาจากการใช้ยาไม่ควรหยุดยาเอง ควรที่จะรีบสอบถามแพทย์ หรือ ไปพบแพทย์ เพื่อแจ้งอาการและปรับขนาดยา หรือ เปลี่ยนการใช้ยา เพื่อไม่ให้กระทบกับโรคที่เป็น ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคได้
- หากต้องทำการถอนฟันหรือผ่าตัด ควรแจ้งแพทย์ที่ให้ยา Pradaxa ทราบ และ ร่วมถึงทันตแพทย์ หรือ ศัลยแพทย์ ที่การผ่าตัด
ปฏิกิริยากับยาอื่น
- ยากลุ่ม Anticoagulants ด้วยกันเอง ไม่ควรนำมารับประทานร่วมกัน เช่น Rivaroxaban (Xarelto) , Apixaban (Eliquis) , Edoxaban (Lixiana) และ ยากลุ่ม Antipletelet เช่น Aspirin , Clopidogrel (Plavix) โดยการใช้ยา ทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วมกับ Pradaxa จะเพิ่มความเสียงในการเกิด Bleeding นั้นเอง
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) กลุ่ม Macrolide เช่น Clarithromycin และ Erythromycin โดยยากลุ่มนี้จะทำให้ระดับของยาพาดาซ่า เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด ผ่าน P-glycoprotein (MDR1) ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิด Bleeding ได้เช่นกัน
- ยาฆ่าเชื้อรา (Antifungal) กลุ่ม imidazole เช่น Ketoconazole , Itraconazole
- ยาต้านเชื้อไวรัส (Antiviral) กลุ่ม HIV Protease Inhibitor เช่น Ritonavir สามารถไปเพิ่มระดับยาพาดาซ่าได้เช่นกัน
- ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น Amiodarone (Cordarone) อาจไปเพิ่มระดับพาดาซ่าในเลือดได้
- ยาลดกรดในกระเพาะต่างๆ ส่งผลให้การดูดซึมยา Pradaxa ลดลง เช่น ยากลุ่ม PPT (Proton pump inhibitor) เช่น Omeprazole หรือ ยากลุ่ม H2 blocker เช่น Ranitidine
การเก็บรักษา
- สามารถเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ 25 – 28 องศา หลีกเลี่ยงการวางยาไว้ที่ถูกแสงและความร้อน ถึงแม้ว่ายาจะอยู่ในแผง กันแสงก็ตาม
- ไม่จำเป็นต้องเก็บยาไว้ในตู้เย็น หรือ ช่องแช่แข็ง หลีกเลี่ยงการเก็บในที่ชื่น
- เก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ตรวจสอบวันหมดอายุ ก่อนนำยามารับประทาน
- ไม่ควรแบ่งยาออกมาจากแผง เพื่อเก็บไว้ในกล่องใส่ยา เนื่องจากความชื่นทำให้ยาเสื่อมสลายได้
ราคาตลาดยา
ถึงแม้ว่ายาจะมีถึง 3 ขนาด แต่ราคาก็จะใกล้เคียงกัน 1950 – 2350 บาท ต่อกล่อง ขนาด 30 แคปซูล
กลับสู่สารบัญสรุปข้อมูลยา
จะเห็นได้ว่ายา Pradaxa ขนาดในการรับประทานยาแต่ละช่วงวัยที่ไม่เท่ากัน รวมถึงผลข้างเคียงและปฎิกิริยากับยาอื่นที่ค่อนข้างมาก ดังนั้นการจะรับประทานหรือนำยานี้มาใช้ ควรที่จะต้องพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ชัดเจนก่อน จึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยใช้ข้อมูลจาก internet เท่านั้น รวมถึงไม่ควรนำยานี้ไปให้ผู้อื่นรับประทาน ถึงแม้จะเป็นโรคเดียวกัน และ ระมัดระวังในการทานยาอื่นๆจากที่แพทย์สั่งร่วมกับยาตัวนี้ หากข้อมูลนี้มีประโยชน์กับคนใกล้ตัวทาน พี่เภก็ขอฝากแชร์บทความไปยังคนใกล้ตัว หรือ social media ต่างๆเพื่อเป็นกำลังใจให้นำข้อมูลยาดีๆ มาให้ด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าคะ