Showing 1–12 of 26 results

ยาฆ่าเชื้อ

ถ้าพูดถึงยาฆ่าเชื้อแล้ว หลายๆคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า เชื้อดื้อยา เป็นอย่างดี หรือ อาจจะนึกถึงเวลาที่เราเจ็บคอ แล้วมักจะชอบไปหาซื้อยาแก้อักเสบตามร้านยา แล้วก็เอามากิน พอหายเจ็บก็หยุดกินกัน พฤติกรรมเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยานั้นเอง

ยาฆ่าเชื้อ คือ ยาที่ไปออกฤทธิ์ทำลายหรือฆ่าเชื้อโรค หรือ ยับยั้งการเจริญเติบโตหรือขยายพันธุ์ของเชื้อ ในทางการแพทย์แล้ว นั้นมีความหมายกว้าง และถูกแบ่งได้เป็นหลายหมวดหมู่ เช่นแบ่งตามโครงสร้างทางเคมีของยา แบ่งตามลักษณะของเชื้อที่ไปฆ่า แบ่งตามอายุคนไข้ แบ่งตามช่องทางการให้ยา หรือ แบ่งตามโรคที่ใช้ในการรักษา โดยหลักๆแล้วง่ายที่สุด เราก็จะแบ่งตามชนิดของเชื้อที่ไปฆ่านั้นแหละ


การแบ่งยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อ

โดยบทความนี้เราจะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อไวรัส ยาฆ่าเชื้อรา และ ยาฆ่าเชื้อปรสิต ซึ่งยาที่ไปฆ่าเชื้อแต่ละชนิดนั้นก็จะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน แล้วมันแตกต่างกันอย่างไรไปดูกันเลย

ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ยาในกลุ่มนี้จะไปออกฤทธิ์จำเพาะกับเชื้อแบคทีเรีย โดยยาจะไปทำลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียบ้าง ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อบ้าง โดยยาไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสหรือราได้ ทำให้ยานี้ไม่สามารถรักษาโรคไข้หวัดได้ เนื่องจากโรคไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสนั้นเอง โดยยาในกลุ่มนี้จะแบ่งได้ตั้งแต่การออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriostatic) และ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Bactericidal) หรืออีกลักษณะหนึ่งที่เรานิยมมากๆในการใช้แบ่งก็คือประเภทของเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวก แกรมลบ แต่ที่เรานิยมกันมากที่สุดก็จะแบ่งตามโรคที่นำไปใช้รักษาได้เลย

ยาต้านไวรัส

ทำไมเราไม่เรียกยาฆ่าเชื้อไวรัส เพราะถึงแม้ว่าเราคิดค้นยาใหม่ๆมานาน แต่ยังไม่มียาใดในโลกนี้ที่ฆ่าเชื้อไวรัสได้เลย เนื่องจากไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ไวมากและไม่ได้มีลักษณะเป็นเซลล์เหมือนเชื้อแบคทีเรีย แต่การที่เราหายจากโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้นั้นเกิดจากภูมิคุ้มกันเราเข้าไปทำลายเชื้อไวรัสที่เข้ามา

ยาที่ทานเป็นเพียงยาที่ทำให้เชื้อไวรัสอ่อนแอลง ยับยั้งการแบ่งตัว หรือ ป้องกันการแพร่ของเชื้อไวรัสเข้าไปในเซลล์ร่างกายเซลล์อื่นๆเท่านั้น โดยยาส่วนใหญ่ก็จะแบ่งตามชนิดของไวรัส หรือ กลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวไวรัส และ โรคที่เป็น เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเริม โรคงูสวัด หรือ โรคเอดส์

ยาฆ่าเชื้อรา

เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตได้ง่ายและตายได้ยาก ทำให้การรักษาโดยการรับประทานยานั้นต้องทานต่อเนื่องนานและถึงแม้ว่าอาการจะดีขั้นแล้ว ก็ควรทานต่อจนครบคอร์สการรักษา โดยยากลุ่มนี้จะไปฆ่าเชื้อราโดยการไปทำลายผนังเซลล์หรือเยื้อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา รวมไปถึงทำลายองค์ประกอบต่างๆภายในเซลล์ของรา ทำให้เชื้อตายและไม่สามารถแบ่งตัวได้

ยาฆ่าเชื้อโปรโตซัว

เราอาจจะไม่ได้เจอโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวมากนัก แต่ที่เราจะพบโรคเหล่านี้ได้บ่อย เช่น การตกเหลืองของผู้หญิง ที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่ช่องคลอด (trichomonas vaginitis) , การท้องเสียจากบิดมีตัว (Entamoeda histolytica) หรือ ท้องเสียจากการติดเชื้อไกอาเดีย (Giardia intestinalis) โดยยาที่ใช้ในท้องตลาดสำหรับการรักษาก็มีไม่กี่ชนิดหลักๆก็ 2 ตัวคือ Metronidazole และ Tinidazole

การแบ่งยาฆ่าเชื้อตามลักษณะการให้ยา (Route of administation classify)

เราก็จะแบ่งไปตามลักษณะของการรับประทาน หลักๆแล้ว ก็จะมีอยู่ 2 ช่องทาง ในการให้ยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อแบบรับประทาน และ ยาฆ่าเชื้อแบบฉีด แล้วแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร เมื่อไหร่ควรให้รูปแบบไหน ไปดูกัน

ยาฆ่าเชื้อแบบรับประทาน

เป็นรูปแบบที่เรานิยมและคุ้นเคยดี และหาซื้อตามร้านขายยาได้ง่าย เพราะเป็นรูปแบบที่ใช้ได้ง่ายและสะดวก โดยยาจะเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถกลืนหรือรับประทานยาได้ การติดเชื้อยังไม่รุนแรงมาก การรักษาการติดเชื้อที่ใช้ระยะเวลายาวนาน ยาในรูปแบบรับประทานในท้องตลาดก็จะมีตั้งแต่รูปแบบน้ำ แบบเม็ด แบบแคปซูล และ แบบผงละลายน้ำ

ยาฆ่าเชื้อแบบทา

ยารูปแบบทา จะเหมาะกับการใช้กับการติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ และไม่ได้เป็นการติดเชื้อที่รุนแรงมากนัก โดยยารูปแบบนี้ในท้องตลาดก็มียาทาสำหรับฆ่าเชื้อได้ทุกชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เช่นกัน

ยาฆ่าเชื้อแบบฉีด

สำหรับรูปแบบฉีดเรามักจะไม่ค่อยได้ใช้และหาซื้อได้ยากกว่า แต่จะถูกใช้ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยการให้ยารูปแบบฉีด จะเหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ หรือมีการติดเชื้อรุนแรงที่ต้องการให้ยาเข้าไปฆ่าเชื้อเร่งด่วน เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือด (septicemia) หรือ ยาฆ่าเชื้อที่ไม่คงตัวเมื่อผลิตในรูปแบบเม็ด ก็จะต้องถูกผลิตขึ้นในรูปแบบฉีด รวมถึงยาฆ่าเชื้อบางชนิดที่ถูกทำลายที่กระเพาะและลำไส้ได้ง่ายหากใช้เป็นรูปแบบการรับประทาน

ยาฆ่าเชื้อแบบสอด

จะเป็นรูปแบบเฉพาะของยาฆ่าเชื้อสำหรับเพศหญิงโดยเฉพาะ โดยจะใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อเฉพาะจุดนั้นก็คือช่องคลอดนั้นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นยาสอดที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ที่เราใช้กันและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือได้รับจากโรงพยาบาลมา

ยาฆ่าเชื้อ แตกต่างจาก ยาแก้อักเสบอย่างไร

เป็นปัญหาและคำถามยอดฮิต และ เป็นเรื่องที่เกิดความเข้าใจผิดกันบ่อยในเรื่องนี้ ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ และ ประชาชน เนื่องจากการใช้ภาษาในการสื่อสาร แต่ให้เข้าใจว่าในทางการแพทย์เราถือว่ามันเป็นยาคนละกลุ่มที่แทบจะไม่ได้มีความใกล้เคียงกันเลย

โดยยาฆ่าเชื้อในทางการแพทย์นั้น หมายถึงยาที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคต่างๆที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และใช้ต่อเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อแล้ว โดยการใช้ยาฆ่าเชื้อก็จะมีกำหนดระยะเวลาสำหรับการใช้ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา โดยเราจะคุ้นเคยกับยากลุ่มนี้ดี เช่น ยาฆ่าเชื้อเม็ดเขียวฟ้า ที่เราชอบเรียกว่ายาแก้อักเสบแต่ที่จริงแล้วยาตัวนี้คือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งแตกต่างจากยาแก้อักเสบที่เราจะกล่าวต่อไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับยาแก้อักเสบ ในทางการแพทย์ หมายถึงยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และฤทธิ์ของยาเหล่านี้ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ โดยยากลุ่มนี้ เราทานเฉพาะเวลาที่มีอาการปวด อักเสบ จากการกระแทก หรือเวลาที่เราปวดท้องประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแต่อย่างใด แต่เวลาที่เป็นเราก็แค่หายา Ponstan มารับประทาน หรือ เวลาที่เราปวดหัว เราก็มั้กจะมองหา ยา Paracetamol โดยเราจะทานเวลาที่มีอาการ ถ้าอาการดีขึ้นแล้วเราก็สามารถหยุดยานี้ได้เลย ไม่เหมือนกับการทานยาฆ่าเชื้อ ที่ต้องการให้ทานจบกระทั้งครบคอร์สที่กำหนด

ผลข้างเคียง (SIDE EFFECT)

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง แน่นท้อง ผายลม
  • เวียนศีรษะ

ข้อควรระวัง

  • ยาฆ่าเชื้อเป็นยากลุ่มที่เราพบอุบัติการณ์ที่ก่อให้เกิดการแพ้ค่อนข้างบ่อย ดังนั้นหากรับประทานยาฆ่าเชื้อกลุ่มไหนแล้วเกิดการแพ้ ควรจะทำการบันทึกยาฆ่าเชื้อตัวนั้นๆลงในบัตรแพ้ยา โดยแพทย์หรือเภสัชกร และพกติดตัวไว้ใช้เวลาซื้อยาหรือรับยา เพื่อป้องกันการได้รับยาที่แพ้ซ้ำ
  • หากมีการตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนรับประทานยากลุ่มนี้ เพราะจะมีทั้งยาที่สามารถทานได้และห้ามทาน
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับ หรือ โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนรับประทานยา เพื่อเลือกยาให้เหมาะสมกับโรคที่เป็น เพราะยาฆ่าเชื้อแต่ละตัวจะมีการขับออกจากร่างกายผ่านตับ หรือ ไตที่แตกต่างกัน
  • ยากลุ่มนี้มักมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆ หลายตัว ดังนั้น ก่อนรับประทานยา หากมียาโรคประจำตัวที่ทานอยู่ เช่น warfarin , ยาวัณโรค ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทาน

สรุปส่งท้าย

จากข้อมูลของยาฆ่าเชื้อที่เราได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่ายาในกลุ่มนี้จะมีหลากหลายมาก และ มีความหมายที่กว้าง รวมถึงยามีความเข้าใจผิดในการใช้ค่อนข้างมาก โดยในบทความถัดๆไป เราจะมาเจาะลึกรายละเอียดของยาฆ่าเชื้อแต่ละกลุ่ม ตามหัวข้อด้านล่างกัน ถ้าเพื่อนๆ เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ก็อย่าลืมฝากแชร์บทความด้วยน้า แอดจะได้มีกำลังใจในการทำบทความดีๆต่อๆไป วันนี้ไปก่อน บะบาย