กาบาเพนติน (Gabapentin) ปวดประสาทจนจะเป็นบ้า ต้องหายานี้มาช่วย แต่เดียวก่อน ปวดประสาทในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าปวดหัวแบบปกติ ปวดหัวจากความเครียดแล้วจะวิ่งโล่หายาตัวนี้มากินนะ หรือปวดแผลแล้วไปหายาตัวนี้มากินมันไม่ใช่อะน่ะ แต่มันใช้สำหรับรักษาอาการปวดทางระบบประสาท (Neuropathic pain) ที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทนั้นเอง โดยยาตัวนี้ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั้งปลีก – ส่ง
สารบัญ (คลิกเลือกอ่านตามหัวข้อ)
กาบาเพนติน กับ กลไกการออกฤทธิ์
Gabapentin กายาเพนติน คือ ยาสำหรับรักษาอาการปวดปลายประสาท (Neuropathic pain) จัดอยู่ในกลุ่ม ยาอันตราย ตามกฎหมาย ซึ่งถูกผลิตและคิดค้นออกมาครั้งแรกโดยบริษัท Pfizer โดยใช้ชื่อการค้าว่า นิวรอนติน (Neurontin) หรือ ชื่ออื่นๆที่มีจำหน่ายในร้านขายยา เช่น Gabutin , Gapentin โดยยาก็จะมีหลายขนาดตั้งแต่ 100 300 400 600 และ 800 มิลลิกรัม
โดยยาตัวนี้เวลาใช้ควรจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะ มีผลข้างเคียงและข้อควรระวังอยู่หลายๆเรื่องเลยทีเดียวเพราะเป็นยาอันตราย ไม่เหมือนยาพาราแก้ปวด ที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน
กลไกการออกฤทธิ์ของกาบาเพนติด ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีการพบว่ายานี้จะไปจับกับ α2-δ subunit ที่ calcium channel ลดการไหลเข้าเซลล์ของแคลเซียมในเลือด และ ลดการหลั่งของ glutamate และ substance P ที่ทำให้เกิดการปวดที่เส้นประสาท ถ้างงไม่เป็นไร แต่ยังไงเราต้องไปต่อ 555

รูปที่ 1 กลไกการออกฤทธิ์ของยา
แหล่งทีมาของรูป https://buygabapentinonline.com/what-is-the-action-mechanism-of-gabapentin/
สรรพคุณของยาตัวนี้
- ใช้รักษาโรคปลายประสาทอักเสบ (Neuropathic pain) สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหรือเจ็บตามปลายมือปลายเท้า โดยการปวดลักษณะนี้ มักจะเกิดกับผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน ปวดเส้นประสาทหลังจากเป็นงูสวัด หรือการปวดที่เกิดหลังจากการถูกกระแทกรุนแรงต่างๆ
- สำหรับการปวดแบบ neuropathic pain นั้นมีความแตกต่างจากการปวดแบบปกติ โดยอาการปวดลักษณะนี้อาจไม่จำเป็นต้องไปถูกสิ่งกระตุ้นก็สามารถปวดขึ้นมาได้ โดยอาการปวดแบบนี้จะมีลักษณะ ปวดแสบปวดร้อน (burning pain), ปวดแปลบ เหมือนมีเข็มทิ่ม(lancinating pain), ปวดตุ้บ ๆ (throbbing pain)
- รักษาโรคลมชัก ในผู้ป่วยลมชัก โดยใช้ร่วมกับยาโรคลมชัก ในผู้ที่เป็นลมชักแบบ Partial seizures โดยยานี้เราจะใช้ในเด็กอายุ 3 ปี ขึ้นไป
- ใช้เป็นยาเสริมในการรักษาอาการปวดไมเกรน
ขนาดการรับประทานยา Gabapentin
ขนาดของยาที่ใช้รับประทานก็แตกต่างกันไป ตามอายุ และ โรคที่นำยานี้ไปใช้
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ที่เป็นโรคลมชัก จะทานเริ่มต้นอยู่ที่ 900 มก แบ่งให้ทานวันละ 3 ครั้ง แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ปรับขนาดเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 1800 มก ต่อวันได้
- สำหรับโรคงูสวัด ให้ทานวันแรก 300 มก/วัน วันที่สอง 600 มก/วัน และคงขนาดยา 900 มก/วัน จนกระทั้งอาการปวดดีขึ้นก็หยุดยาได้
- เด็ก 3-12 ปี แนะนำให้ไปพบแพทย์ หรือ ปรึกษาเภสัชกร เพื่อปรับตามอายุและน้ำหนักตัว
วิธีการรับประทานยา การลืมทานยา และ การหยุดยา
- ควรรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด หรือ ตามขนาดยาที่ใช้รักษาโรคที่เป็น
- หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากอีก 2 ชั่วโมงต้องทานยามื้อถัดไป ให้ทานมื้อถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องทานยาซ้ำมื้อที่ลืม เพราะอาจจะทำให้ได้ยาเกินขนาด
- ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หากทานยานี้ติดต่อกันมานาน สำหรับผู้ป่วยลมชัก เพราะอาจจะทำให้อาการกำเริบได้ ควรค่อยๆลดขนาดยาลงอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์
ข้อควรระวังและคำเตือนในการใช้ยากาบาเพนติน
- ยานี้จะทำให้มีอาการง่วงซึมได้ ขณะที่รับประทานยานี้ควรจะหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือ ทำงานกับเครื่องจักรที่อาจเป็นอันตรายหากง่วงนอน
- ห้ามรับประทานยาสำหรับผู้ที่แพ้ยา หรือ ส่วนประกอบอื่นๆของยานี้
- ไม่ควรทานยานี้ร่วมกับเครื่องดืมที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจจะทำให้กดการทำงานของทางเดินหายใจ
- ยานี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติของการแข็งตัวของเม็ดเลือด
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์เพราะอาจทำให้ทารกพิการได้
- ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับหญิงให้นมบุตร หรือ ยกเว้นแพทย์สั่งจะแนะนำให้ปั๊มนมหรือให้นมบุตรให้เรียบร้อยแล้วค่อยรับประทานยา
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- หากมีผื่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หายใจลำบาก ริมฝีปาก คอหอยและลิ้นบวม และความดันเลือดต่ำ ระหว่างรับประทานยา อาจเป็นอาการแพ้ยาแบบรุนแรง ให้รีบหยุดยาและพบแพทย์เพื่อรักษาการแพ้ยาทันที

รูปที่ 2 อาการไม่พึ่งประสงค์และผลข้างเคียงที่พบได้
แหล่งที่มาของรูป https://carolinacenterforrecovery.com/addiction-blog/gabapentin-overdose-signs-symptoms-and-treatment/
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ แต่ไม่ได้พบทุกคนที่ทาน (SIDE EFFECTS)
- มากกว่า 10% พบอาการเวียนศีรษะ ง่วงนอน รู้สึกอ่อนเพลีย
- 1 – 10 % บวมตามแขนขา เป็นไข้ ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย คันผิวหนัง
- 1-5 % คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก ท้องอึด อาหารไม่ย่อย ตาพร่ามัว
- 1% เยื่อบุตาอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ กระตุก เม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ
ข้อควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นๆ
- ควรรับประทานยานี้ห่างจากยาลดกรดประมาณ 2 ชั่วโมง
- ควรหลีกเลี่ยงการทานยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดทางเดินทางหายใจ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioid ยกเว้นในกรณ๊ที่แพทย์สั่งหรือจำเป็นต้องทานร่วมกัน ให้คอยสังเกตอาการของตนเองขณะทาน หากมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ หายใจติดขัด แนะนำให้หยุดยาแล้วไปพบแพทย์
การได้รับยาเกินขนาด
- หากได้รับยาเกินขนาด อาจมีอาการเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ง่วงซึม ท้องเสีย
ราคา กาบาเพนตินในท้องตลาด
- Neurontin 100 mg แผงละ 175 – 215 บาท (ยานำเข้า)
- Neurontin 300 mg แผงละ 335 – 395 บาท
- Neurontin 600 mg แผงละ 595 – 680 บาท
- Gabapentin GPO 100 mg แผงละ 65 – 90 บาท (ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม)
- Gabapentin GPO 300 mg แผงละ 85 – 125 บาท
- Sandoz Gabapentin 100 mg แผงละ 105 – 125 บาท (ยา Generic นำเข้า)
- Sandoz Gabapentin 300 mg แผงละ 150 – 180 บาท
สรุปการใช้ยากาบาเพนติน
- เนื่องจากยากาบาเพนตินเป็นยาอันตราย ไม่ควรนำยานี้ไปให้ผู้อื่นรับประทานด้วยตนเอง แม้ว่าจะมีอาการปวดเหมือนๆกับเรา และไม่ใช้อาการปวดทุกชนิดจะใช้ยาตัวนี้รักษา เช่น อาการปวดประจำ อาการปวดหัวจากความเครียด และห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง (Reference)
- Gabapentin กับความเสี่ยงต่อภาวะกดการหายใจอย่างรุนแรง https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1431
- Gabapentin with treatment https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/gabapentin
- Side effect of Gabapentin https://www.nhs.uk/medicines/gabapentin/side-effects-of-gabapentin/
- ผลข้างเคียง Gabapentin ในผู้สูงอายุ https://bit.ly/3JrJCTo
- Neuropathic pain https://bit.ly/3IqrEj1