แสดงทั้งหมด 3 ผลลัพท์

สังฆทานยา

คือ สังฆทานประเภทหนึ่ง ของสังฆทานอื่นๆ โดยสามารถหาซื้อได้ ตามร้านขายยาใกล้บ้าน หรือ ร้านสังฆภัณฑ์ เช่น สังฆทานผ้าไตรจีวร (เครื่องนุ่งห่ม) , อาหารแห้ง ,ของใช้พระสงค์ โดยเราสามารถจัดยาเข้าไปในชุดสังฆทานอื่นๆ เหล่านี้ก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการใส่สังฆทานทุกประเภทเลยคือ สิ่งที่เราใส่ลงไปในถังหรือถุงสังฆทาน จะต้องไม่เป็นพิษ เป็นภัยกับพระสงฆ์ เช่น สินค้าหมดอายุ สินค้าที่ทานแล้วทำลายสุขภาพต่างๆ


สังฆทานยาแตกต่างกับแบบอื่นอย่างไร

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นยา โดยจะเน้นไปที่การถวายยารักษาโรคหรือยาสามัญสำหรับป้องกัน หรือ บรรเทาอาการของโรคพื้นฐานในเวลาที่จำเป็น โดยส่วนใหญ่แล้วเราก็มักจะใส่เป็นยาสามัญประจำบ้าน แล้วยาที่เราจะใส่มันควรเป็นยาอะไรบ้าง ไปดูในหัวข้อถัดไปเลย

ชุดสังฆทานยาของร้านเรามีแบบไหนบ้าง

โดยชุดที่เราจัดในร้านเราส่วนใหญ่แล้วจะมีด้วยกันอยู่ 3 รูปแบบ ที่อาจจะดูแตกต่างไม่เหมือนคนอื่นอยู่บ้างมีอะไรบ้างไปดูกัน

  • ชุดแบบกล่องสังฆทาน
  • ชุดแบบถุงหูหิ้ว
  • ชุดชะลอม

ถวายสังฆทานยา ถวายอย่างไรให้ได้บุญ

สิ่งสำคัญเลย ก่อนที่เราจะนำสังฆทานต่างๆ ไปถวาย ไม่ว่าจะเป็น ยา ของใช้อื่นๆ พระสงฆ์ท่านจะแนะนำว่าควรจะไปสังเกตวัดแต่ละวัด ว่าวัดนั้นๆ เขามีสิ่งของอะไรแล้วบ้าง แล้วสิ่งไหนที่ยังขาดแคลน เพราะหลายๆ ครั้ง สิ่งที่ญาติโยมนำไปถวายนั้น มักเป็นสิ่งของแบบเดียวกัน ทำให้สิ่งของบางอย่างมากเกินความจำเป็น แต่สิ่งของบางอย่างกลับขาดแคลน  และแนะนำว่าให้สังเกตว่าในวัดที่เรานำยาไปถวาย มักมีพระป่วยด้วยสาเหตุอะไร จึงทำให้เราถวายได้ตรงจุดนั้นเอง

แล้วเราต้องใส่ยาอะไรลงไปบ้าง

ตรงจุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญ สำหรับสังฆทานยาเลยก็ว่าได้ เพราะอะไร เพราะยานั้นถือได้ว่าเป็นวัตถุอันตรายอย่างหนึ่งไม่เหมือนสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ รวมถึงยานั้นมีกฎหมายมากำกับ เพราะฉะนั้นเวลาเราใส่ยาใดๆ ลงไปในสังฆทานนั้น เบื้องต้นแนะนำว่า ควรจะเลือกเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงไว้ก่อน เช่นยาสามัญประจำบ้าน และ ยาสมุนไพรต่างๆ เราควรมีเอกสารกำกับการใช้ยา และข้อควรระวังการใช้ยาไว้ด้วยได้จะยิ่งดี เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ถึงแม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านหรือยาสมุนไพร ก็ยังสามารถเกิดอันตรายกับคนที่แพ้ยาได้

วิธีเลือกซื้อยาเพื่อนำไปจัดชุดถวายสังฆทาน

สำหรับผู้ทำบุญ ที่ต้องการเลือกทำบุญด้วยสังฆทานยา มีข้อแนะนำดังนี้

  1. การซื้อสังฆทานยาสำเร็จรูป ที่วางจำหน่ายตามร้านขายของชำ ร้านสังฆภัณฑ์ หรือตามห้างสรรพสินค้า อาจจะทำไว้ขายในช่วงเวลานาน วางในที่ร้อน หรือหน้าร้านที่มีแสงแดด ใส่ในกล่องพลาสติกที่อับและร้อน ลักษณะเช่นนี้ จึงอาจมีความเสี่ยง ที่จะพบปัญหา เช่น ยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ ดังนั้น การเลือกซื้อสังฆทานยาสำเร็จรูป แบบนี้ จึงควรให้ความสำคัญ ในการเลือกผลิตภัณฑ์ ที่มีฉลากถูกต้อง วางขายไม่โดนแสง ไม่เก่าเก็บ ไม่ปะปน กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่อาจทำให้ ยาเสื่อมสภาพ
  2. การซื้อเป็นชุดยาตำราหลวง จะเป็นยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ภายในประกอบไปด้วย รายการยาสามัญประจำบ้านตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการยกเว้น ให้จำหน่ายได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยาเช่นกัน เป็นยาที่มีความปลอดภัย และมีราคาย่อมเยาว์ สามารถหาซื้อได้ง่าย โดยไม่ต้องลำบาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก
  3. จัดยาเอง เราควรหาข้อมูลก่อนว่าที่วัดที่เราจะไปทำบุญ นั้นมีความต้องการใช้ยาใดบ้าง เมื่อได้ข้อมูลแล้วควรไปซื้อยาที่ร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ และควรแจ้งว่าต้องการซื้อยาไปทำบุญ หรือถวายสังฆทานยา เพื่อที่เภสัชกรจะได้จัดเตรียมภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และตรวจสอบวันหมดอายุ จัดเตรียมฉลากกำกับยา ให้ได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง แต่ไม่ว่าอย่างไร การซื้อยาไปทำบุญทั่วไป ควรเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือยาจำเป็นพื้นฐาน

การจัดยาเพื่อนำไปถวายสังฆทานด้วยตัวเอง ควรมีความรู้พื้นฐานดังนี้

1. ต้องเป็นยาสามัญประจำบ้าน (บนฉลากมีคำว่า ยาสามัญประจำบ้าน ในกรอบสีเขียว)

เป็นชื่อเรียกกลุ่มยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ประชาชนทั่วไป สามารถใช้ได้อย่างไม่อันตราย เพื่อรักษาตนเองเบื้องต้น เช่น อาการไอ ปวดศีรษะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือมีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น และสามารถหาซื้อได้ทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

2. ทำความเข้าใจเรื่องสรรพคุณของยาแต่ละประเภท

เรามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพิจารณาด้วยว่าพระสงฆ์ในวัดที่จะไปทำบุญนั้น ท่านมีโอกาสหรือมีแนวโน้มที่จะอาพาธเป็นอะไรบ้าง มีโอกาสได้ใช้ยาที่จะไปถวายรึเปล่า เพราะหากนำยาไปถวายแต่ท่านไม่ได้ใช้ หรือมีโอกาสใช้ได้น้อย สุดท้ายยาก็หมดอายุ หรือเสื่อมคุณภาพ ก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์

2.1 รายการยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน แบ่งตามกลุ่มการรักษา

กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้

  • ยาเม็ดสำหรับบรรเทาปวด และลดไข้ แอสไพริน
  • ยาเม็ดและยาน้ำบรรเทาปวดลดไข้ พาราเซตามอล ยาเม็ดมีขนาด 500 มก. และขนาด 325 มก
  • พลาสเตอร์ช่วยบรรเทาปวด

กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก

  • ยาเม็ดแก้แพ้ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน

กลุ่มยาแก้ไอ ขับเสมหะ

  • ยาน้ำแก้ไอ ขับเสมหะสำหรับเด็ก
  • ยาแก้ไอน้ำดำ

กลุ่มยาดมหรือยาทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก

  • ยาดมแก้วิงเวียน เหล้าแอมโมเนียหอม
  • ยาทาระเหย บรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
  • ยาดมแก้วิงเวียน และแก้คัดจมูก

กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ

  • ยาแก้เมารถ เมาเรือ ไดเมนไฮดริเนท
  • กลุ่มยาสำหรับโรคปาก และลำคอ
  • ยากวาดคอ
  • ยาแก้ปวดฟัน
  • ยาดมบรรเทาอาการระคายคอ
  • ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า เยนเชี่ยนไวโอเลต

กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

  • ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง
  • ยาทาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทิงเจอร์มหาหิงค์
  • ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา – แมกนีเซีย
  • ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซดามิ้นท์
  • ยาขับลม
  • ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซเดียมไบคาร์บอเนต
  • ยาน้ำลดกรดอะลูมินา-แมกนีเซียม

กลุ่มยาแก้ท้องเสีย

  • ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่

กลุ่มยาระบาย

  • ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก
  • ยาระบายมะขามแขก
  • ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ ชนิดสวนทวาร
  • ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
  • ยาระบายแมกนีเซีย

กลุ่มยาถ่ายพยาธิลำไส้

  • ยาถ่ายพยาธิตัวกลม มีเบนดาโซล ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม

กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย

  • ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง

กลุ่มยาสำหรับโรคตา

  • ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์
  • ยาล้างตา

กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง

  • ยารักษาหิดเหา เบนซิล เบนโซเอต
  • ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์
  • ยารักษาเกลื้อน โซเดียมไทโอซัลเฟต
  • ยารักษาหิด ขึ้ผึ้งกำมะถัน
  • ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
  • ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง

กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

  • ยารักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล
  • ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม

กลุ่มยาใส่แผล ยาล้างแผล

  • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน
  • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล
  • ยาเอทธิล แอลกอฮอล์
  • น้ำเกลือล้างแผล
  • ยาใส่แผลโพวิโดน ไอโอดีน
  • ยาไอโซโบรฟิล แอลกอฮอล์

กลุ่มยาบำรุงร่างกาย

  • ยาเม็ดวิตามินบีรวม
  • ยาเม็ดวิตามินซี
  • ยาน้ำมันตับปลา ชนิดแคปซูล
  • ยาน้ำมันตับปลาชนิดน้ำ
  • ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต

2.2 รายการยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ

  • ยามันทธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ
  • ยาไฟประลัยกัลป์ ขับน้ำคาวปลาในเรือนไฟ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่
  • ยาไฟห้ากอง ขับน้ำคาวปลาในเรือนไฟ
  • ยาประสะเจตพังคี แก้กระษัยจุกเสียด
  • ยาประสะกะเพรา แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
  • ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย
  • ยาอำมฤควาที แก้ไอ ขับเสมหะ
  • ยาประสะมะแว้ง แก้ไอ แก้เสมหะ
  • ยาจันทน์ลีลา แก้ไข้ แก้ตัวร้อน
  • ยาตรีหอม แก้เด็กท้องผูก ระบายพิษไข้
  • ยาประสะจันทน์แดง แก้ไข้ตัวร้อน กระหายน้ำ
  • ยาหอมอินทจักร์ แก้ลมบาดทะจิต
  • ยาประสะไพล แก้จุกเสียด แก้ระดูไม่ปกติ ขับน้ำคาวปลา
  • ยาหอมนวโกฐ แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน
  • ยาวิสัมพยาใหญ่ แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ จุกเสียด
  • ยาธาตุบรรจบ แก้ธาตุไม่ปกติ ท้องเสีย
  • ยาประสานกานพลู แก้ปวดท้อง เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
  • ยาแสงหมึก แก้ตัวร้อน
  • ยาประสะเปราะใหญ่ ถอนผิดไข้ตานทรางสำหรับเด็ก
  • ยามหาจักรใหญ่ แก้ลมทราง แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ยาเนาวหอย แก้กระษัยจุกเสียด
  • ยาถ่าย ใบมะขาม ใบส้มป่อย แก้ท้องผูก
  • ยาหอมเทพจิตร แก้ลม บำรุงหัวใจ
  • ยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน
  • ยามหานิลแท่งทอง แก้ไข้ แก้หระกายน้ำ แก้หัด อีสุก อีใส
  • ยาเขียวหอม แก้ตัวร้อน ร้อนใน กระหายน้ำ
  • ยาธรณีสันฑะฆาต แก้กระษัยเส้น เถาดาน ท้องผูก
  • ยาบำรุงโลหิต บำรุงโลหิต

3. รู้จักวิธีการเก็บรักษา และข้อควรระวัง

ส่วนตัวในฐานะเภสัชกรแนะนำว่า หากไม่มีความรู้เลย ก็ไม่ควรซื้อกล่องยาสำเร็จรูปมาถวายเป็นสังฆทานยาให้แก่พระสงฆ์ เนื่องจากยาที่ถูกจัดไว้ในชุดนั้น อาจจะใช้ไม่ได้เลย และมีความเสี่ยงที่จะทำให้พระสงฆ์ได้รับอันตรายจากการใช้ยานั้น ซึ่งนอกจากจะกังวลเรื่องวันหมดอายุแล้ว เรื่องอุณหภฺมิในการเก็บรักษา ก็ยังมีผลต่อคุณภาพของยาโดยตรงอีกด้วย

ดังนั้นการเก็บรักษายาสามัญประจำบ้าน ควรที่จะช่วยพระสงฆ์แยกยาออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน อันไหนคือยาสำหรับทาน ยาอันไหนคือยาสำหรับใช้ภายนอก และจะต้องมีฉลากยาที่มีความถูกต้องชัดเจน รวมถึงเก็บยาไว้ในที่ไม่โดนแสงแดด ความร้อน ความชื้น ทั้งนี้ก็ต้องไม่เอายาชนิดอื่น มารวมไว้ในตู้เก็บยาสามัญประจำบ้าน เพราะอาจจะทำให้ท่านอื่นหยิบผิดได้

ยาสามัญประจำบ้าน สำหรับจัดชุดสังฆทานยาด้วยตัวเอง ควรมีอะไรบ้าง

รายการยาที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้มีติดบ้านไว้ (หรือติดวัดไว้) ก็มักจะเป็นยาที่มีโอกาสใช้ได้บ่อย ได้แก่

  • ยาถ่ายพยาธิลำไส้ มีเบนดาโซล
  • ยาพาราเซตามอล ลดไข้ บรรเทาปวด
  • ยาคลอร์เฟนิรามีน แก้แพ้ ลดน้ำมูก
  • ยาเม็ดลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย-ไซเมธิโคน
  • ยาธาตุน้ำแดง ลดอาการท้องอืด
  • ผงน้ำตาลเกลือแร่ แก้ท้องเสีย
  • ผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย
  • ยาไดเมนไฮดริเนท แก้เมารถ
  • ยาโพวิโดน-ไอโอดีน ใส่แผลสด
  • น้ำเกลือล้างแผล
  • คาลาไมน์โลชั่น ยาทาแก้ผดผื่นคัน
  • ยาระบายมะขามแขก
  • ยาแก้ไอน้ำดำ
  • ยาดมแก้วิงเวียน
  • ยาหม่อง

ยาอะไรที่ไม่ควรใส่ในชุดสังฆทาน

ยาที่เราไม่ควรนำมาใส่ในชุดสังฆทานเลย เช่น ยาอันตรายต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด , ยาควบคุมพิเศษ โดยยาเหล่านี้ผู้ที่รับประทาน ควรจะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นก่อน ถึงจะปลอดภัยกว่า และยาเหล่านี้บางรายการจะใช้กับผู้ที่ป่วยในบางโรคที่จำเพาะ แต่เวลาที่เราถวายสังฆทานตามหลักแล้ว เราจะไม่ได้เจาะจงกับพระที่เราจะเป็นถวาย คือไปเจอพระรูปใดเราก็จะถวายรูปนั้นๆ เลย

เราควรซื้อสังฆทานยาที่ไหน

ถ้าจะให้แนะนำ ก็ควรซื้อที่ร้านขายยานี้แหละ ถ้าจะให้ดีแล้วเราสามารถเข้ามาเลือกยาที่จะถวายได้จำเพาะเจาะจงกับที่วัดต้องการมากขึ้น และสามารถซื้อยากลุ่มอื่นๆ ที่ร้านทั่วไปไม่มี เพราะยาบางกลุ่มจะถูกจำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบัน เท่านั้น

ฝากทิ้งท้ายเรื่องสังฑทานยา

โดยเวลาเราถวายสังฆทานยา เรามีใจบริสุทธิ์ เพื่อต้องการให้พระสงฆ์ หรือ ผู้อื่นๆ ที่อยู่ในวัด เวลาที่เกิดความเจ็บป่วยเกิดขึ้น จะได้มียาต่างๆ เพื่อใช้ในการบรรเทาอาการของโรคเบื้องต้น ให้หายจากความทุกข์ทรมานจากโรค แต่ยาก็เป็นวัตถุที่แตกต่างจากของอื่นๆ ที่เรานำมาถวาย เพราะฉะนั้นควรให้ความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลยาต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซด์นี้ หรือถ้าจะให้ดีควรไปซื้อที่ร้านขายยา ที่แนะนำโดยเภสัชกร ก็จะได้ความปลอดภัย และ ได้บุญที่มากขึ้นนี้เอง ถ้าคิดว่าบทความมีประโยชน์กับเพื่อน หรือ คนรู้จักอย่าลืมแชร์บทความ และ พบกันใหม่ในบทความถัดไปน่ะ บะบาย