ตู้ยาประจำบ้านเรามียาอะไรบ้างเป็นประจำ คือ ยาสามัญประจำบ้าน หรือเปล่า อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ เพราะหลายๆ บ้านนั้น ตู้ยาที่บ้านนั้นเต็มไปด้วยยาหลากหลายมาก ประหนึ่งเป็น ร้านขายยา 24 ชั่วโมงที่จัดส่ง delivery ถึงเราตลอดเวลา ที่ป่วยเมื่อไหร่ก็มาหาได้ที่ตู้นี้อะน่ะ หนึ่งในนั้นก็ตู้ยาของบ้านแอดมินด้วย โดยเฉพาะยาโรคประจำตัวของเราเองและคนอื่นๆ ในบ้านก็จะถูกยัดรวมอยู่ในตู้นั้น แล้วยาสามัญประจำบ้าน คืออะไร บทความนี้จะเล่าให้ฟังกันอย่างละเอียดเลยทีเดียว
สารบัญ ( ยาวไปเลือกอ่านได้ )
2. ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน 52 รายการ มีอะไรบ้าง
3. ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 28 ขนาน มีอะไรบ้าง
4. กลุ่มยาอื่นๆ สามารถถูกเปลี่ยนมาเป็นยาสามัญประจำบ้านได้หรือมั้ย
- ข้อดีของการที่ยาอื่นๆ ถูกเปลี่ยนมาเป็นยากลุ่มนี้
- ยาสามัญสามารถถูกยกเลิก หรือเปลี่ยนกลับไปเป็นยากลุ่มอื่นๆ ได้มั้ย
- ยาสามัญประจำบ้านเหล่านี้ปลอดภัยกับเราทั้งหมดจริงหรือ
5. สรุปข้อมูลเกี่ยวกับยาสามัญประจำบ้าน
ทำการลงทะเบียนเพื่อที่เราจะต้องทำการตรวจสอบเลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ และ ใบอนุญาตขายยา ว่าเป็นการซื้อยาของผู้รับอนุญาต ที่มีร้านขายยาถูกต้องตามกฏหมาย
ยาสามัญประจำบ้าน คืออะไร
ยาสามัญประจำบ้าน ( household-medicine ) คือ ยาที่มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ที่ประชาชนสามารถหาซื้อได้ โดยไม่ต้องถูกจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ เช่นแพทย์ เภสัชกร และสามารถจำหน่ายได้นอกสถานพยาบาลและร้านขายยา
โดยยากลุ่มนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย) ได้ประกาศในกฎกระทรวง โดยแบ่งยาสามัญประจำบ้านออกเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน 52 รายการ และ ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 28 รายการ
รู้ได้อย่างไรว่าเป็น ยาสามัญประจำบ้าน ตามกฎหมาย
หลายๆ คนเคยสังเกตมั้ยว่าที่กล่องยาจะมี กลุ่มยาตามกฎหมายติดอยู่เช่น ยาอันตรายก็จะเป็นตัวอักษรสีแดง ยาควบคุมพิเศษ ก็จะมีตัวอักษรสีแดง ในกรอบสีแดงครอบไว้ นั้นแหละ ยาสามัญประจำบ้านก็เช่นกัน ก็จะมีสัญลักษณ์ตามภาพด้านล่าง ติดไว้ที่ข้างกล่องยาเช่นกัน ให้เรารู้ได้เลยว่า นี้ฉันคือยาอะไร
ต้องมีสัญลักษณ์นี้ ก็จะรู้ทันทีว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านตามกฎหมาย
แล้วนอกจากการดูสัญลักษณ์แล้วเราก็สามารถตรวจสอบเพิ่มได้ โดยการเข้าไปดูที่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ก็จะมีแจ้งออกมาว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนยาอะไรบ้าง ให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน
กลับสู่สารบัญยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน 52 รายการ มีอะไรบ้าง
- ยาเม็ดลดกรด อะลูมินา – แมกนีเซีย
- ยาน้ำลดกรดอะลูมินา – แมกนีเซีย
- ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อโซดามิ้นท์
- ยาขับลม
- ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง
- ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซเดียมไบคาร์บอเนต
- ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทิงเจอร์มหาหิงคุ์
- ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่
- ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารสำหรับเด็ก
- ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
- ยาระบายแมกนีเซีย
- ยาระบายมะขามแขก
- ยาระบายโซเดียม คลอไรด์ ชนิดสวนทวาร
- ยาถ่ายพยาธิตัวกลม มีเบนดาโซล
- ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้พาราเซตามอล 500 มก.
- ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้พาราเซตามอล 325 มก.
- ยาน้ำบรรเทาปวด ลดไข้พาราเซตามอล
- พลาสเตอร์บรรเทาปวด
- ยาเม็ดแก้แพ้ ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน
- ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก
- ยาแก้ไอน้ำดำ
- ยาดมแก้วิงเวียน เหล้าแอมโมเนียหอม
- ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก
- ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
- ยาเม็ดแก้เมารถ เมาเรือไดเมนไฮดริเนท
- ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์
- ยาล้างตา
- ยากวาดคอ
- ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า เยนเชี่ยนไวโอเลต
- ยาแก้ปวดฟัน
- ยาอมบรรเทาอาการระคายคอ
- ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ
- ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน
- ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล
- ยาใส่แผล โพวิโดน-ไอโอดีน
- ยาไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์
- ยาเอทิลแอลกอฮอล์
- น้ำเกลือล้างแผล
- ยารักษาแผลติดเชื้อ ซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม
- ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง
- ยารักษาหิดเหาเบนซิลเบนโซเอต
- ยารักษาหิด ขี้ผึ้งกำมะถัน
- ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
- ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
- ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์
- ยารักษาเกลื้อน โซเดียม ไทโอซัลเฟต
- ยาเม็ดวิตามินบีรวม
- ยาเม็ดวิตามินซี
- ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต
- ยาเม็ดวิตามินรวม
- น้ำมันตับปลาชนิดแคปซูล
- น้ำมันตับปลาชนิดน้ำ
ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 28 ขนาน มีอะไรบ้าง
- ยาหอมเทพวิจิตร
- ยาหอมทิพโอสถ
- ยามหานิลแท่งทอง
- ยาเขียวหอม
- ยาประสะกะเพรา
- ยาเหลืองปิดสมุทร
- ยาอัมฤควาที
- ยาประสะมะแว้ง
- ยาจันทลีลา
- ยาตรีหอม
- ยาประสะจันทน์แดง
- ยาหอมอินทจักร์
- ยาประสะไพล
- ยาหอมเนาวโกฐ
- ยาวิสัมพยาใหญ่
- ยาธาตุบรรจบ
- ยาประสะกานพลู
- ยากวาดแสงหมึก
- ยามันทธาตุ
- ยาไฟประลัยกัลป์
- ยาไฟห้ากอง
- ยาประสะเจตพังคี
- ยาธรณีสัณฑะฆาต
- ยาบำรุงโลหิต
- ยาประสะเปราะใหญ่
- ยามหาจักรใหญ่
- ยาเนาวหอย
- ยาถ่าย
จากรายการยาข้างต้นด้านบนที่เขียนยาวเป็นเมตรลงมา เราอาจเห็นว่ารายการยาแต่ละอย่างนั้นเราหาซื้อได้ง่าย และใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่สิ่งที่แอดมินอย่างจะให้เราตั้งคำถามคือ
กลับสู่สารบัญกลุ่มยาอื่นๆ สามารถถูกเปลี่ยนมาเป็นยาสามัญประจำบ้านได้หรือมั้ย
ยาในกลุ่มอื่นๆ เช่นยาอันตราย ก็สามารถถูกเปลี่ยนไปเป็นยาสามัญประจำบ้านได้ ถ้าหากว่ายานั้นทางคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงสภาเภสัชกรรม ได้มีความเห็นว่ายานี้มีความปลอดภัย และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยยาถูกใช้มานานเพียงพอ ก็อาจจะทำการเปลี่ยนประเภทของยา จากยากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะยาอันตรายให้เปลี่ยนมาอยู่ในกลุ่มของยาสามัญประจำบ้านได้
ข้อดีของการที่ยาอื่นๆ ถูกเปลี่ยนมาเป็นยากลุ่มนี้
จากบทความเรื่องยาอันตราย หรือ ยาควบคุมพิเศษ เราจะเห็นได้ว่ายาใน 2 กลุ่มนี้นั้น จะมีข้อกฎหมายให้จำหน่ายเฉพาะในสถานประกอบการพยาบาล หรือ ร้านขายยาเท่านั้น แต่สำหรับยาสามัญประจำบ้านแล้ว เราสามารถเข้าถึงยากลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น
เพราะยากลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น แต่สามารถจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านขายของชำแถวบ้านเราก็สามารถทำได้ โดยไม่ผิดกฎหมายนะ จะบอกให้
นอกจากนี้แล้วข้อดีอีกมุมหนึ่งคือยากลุ่มนี้จะเพิ่มโอกาสในการขายได้ง่ายขึ้นนั้นเอง ทำให้ยาหลายๆตัวที่เคยจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตรายที่ถูกใช้มานาน และดูแล้วไม่ค่อยพบผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อผู้ที่รับประทาน
หลายๆ บริษัทที่เป็นเจ้าของยานั้นก็พยายามจะผลักดันให้ยาเหล่านี้ ให้ทางสำนักกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เปลี่ยนแปลงกลุ่มยาเหล่านี้ให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน
ยาสามัญสามารถถูกยกเลิก หรือเปลี่ยนกลับไปเป็นยากลุ่มอื่นๆ ได้มั้ย
เมื่อทุกอย่างล้วน อนิจจัง ยากลุ่มใดๆก็สามารถโยกย้ายกลุ่มได้ ยาสามัญประจำบ้านก็เช่นกัน
หากเราพบว่ายาใดๆก็ตาม แม้ว่าในกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน หากพบเจอปัญหาว่าเกิดการใช้ยาไปแล้วเจอผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือ เจอปัญหาการนำไปใช้ที่ผิดๆ ทางสภาเภสัชและทางสำนักกรรมการอาหารและยา ก็สามารถเปลี่ยนแปลงกลุ่มยาเหล่านี้ ให้เป็นยาอันตรายหรือยาในกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องจำหน่ายในร้านขายยา หรือสถานพยาบาลเท่านั้นได้นั้นเอง
ยาสามัญประจำบ้านเหล่านี้ปลอดภัยกับเราทั้งหมดจริงหรือ
สำหรับคนที่เป็นเภสัชหรือแพทย์ อาจจะร้องออเลย เพราะรู้ว่ามันก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป แต่สำหรับประชาชนแล้ว หากเพียงแค่เขาไม่รู้ว่าคนใกล้ชิดของเรา แพ้ยาบางอย่างในกลุ่มนี้ แล้วนำยานี้ไปรับประทาน หรือ คนที่รับประทานมีโรคประจำตัวบางอย่าง
เช่น คนที่แพ้ยาพาราเซตามอล หรือ เป็นโรค G6PD หรือโรคตับ ก็ไม่สมควรที่จะรับประทานยาตัวนี้ นอกจากนี้แล้วยาสามัญตัวอื่นๆ ก็มีข้อควรระวัง หรือข้อห้ามในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางกลุ่มเช่นกัน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สรุปข้อมูลเกี่ยวกับยาสามัญประจำบ้าน
ถึงแม้ว่ายาสามัญประจำบ้านจะถูกจัดได้ว่าเป็นยาที่ปลอดภัยมากกว่ายาในกลุ่มอื่นๆ แต่ขึ้นชื่อว่ายาแล้วก็ต้องมีความระมัดระวังในการใช้เช่นกัน ถ้าเวลานำไปใช้หรือรับประทานแล้วเกิดความผิดปกติของร่างกาย เช่น มีผื่นขึ้น หน้าบวม หรืออาการที่แตกต่างจากร่างกายปกติที่เราเป็น ก็ควรจะหยุดใช้ยา และไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอีกที หรือถ้าเรามีโรคประจำตัวบางอย่าง
ควรสอบถามทางแพทย์ที่เรารักษาหรือเภสัชกร ก่อนที่จะรับประทานยาต่างๆที่เรายังไม่มั่นใจหรือไม่มีความรู้น่ะจะบอกให้ แล้วพบกันใหม่ในบทความเกี่ยวกับเรื่องยาและโรคต่างๆ ไปก่อนละบายๆ
แหล่งที่มาของข้อมูล (Reference)
- ข้อมูลยาสามัญแผนปัจจุบัน https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/SitePages/Law03-06.aspx
- ข้อมูลยาสามัญแผนโบราณ https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/SitePages/Law03-07.aspx
- ประกาศกระทรวงเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลยาควบคุมพิเศษ https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/SitePages/Law03-03.aspx